เกิดวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ สิริรวมอายุ ๙๑ ปี
อุปสมบทวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ รวมพรรษา ๗๒ พรรษา
มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
จำพรรษาที่วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร ในท้องที่กรุงเทพมหานคร สังกัด ธรรมยุติกนิกาย
วุฒิการ น.ธ.เอก, ป.ธ.๕, ศน.บ., พธ.ด. ศึกษา (กิตติ์)
ตำแหน่ง ฝ่ายปกครอง
พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
พ.ศ. ๒๕๔๖ – ๒๕๕๐ เป็นรองเจ้าคณะภาค ๑๖ – ๑๗ – ๑๘
พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๖ – ๑๗ – ๑๘ (ธ)
งานเผยแผ่
หัวหน้ากำกับดูแลพระธรรมฑูต ประเทศอินโดนีเซีย
มรณกาล
พระสุธรรมาธิบดี (แบน กิตฺติสาโร ป.ธ.๕) มรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สิริอายุได้ ๙๑ ปี รวมพรรษา ๗๒ พรรษา
สมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นเปรียญธรรม ๕ ประโยค
พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นพระครูปลัดสุวัฑฒนพรหมจริยคุณ (พระครูปลัดของพระราชาคณะ เจ้าคณะรอง)
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ที่พระโศภนคณาภรณ์
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชสุมนต์มุนี ศรีปริยัติธุราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพวราจารย์ พุทธิธรรมสารวิจิตร ศาสนกิจคุณาทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมวราจารย์ สุวิธานปริยัติบัณฑิต กิตติสารโสภิต ศาสนกิจคุณาทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัตฎ ที่พระสุธรรมาธิบดี ปูชนียฐานประยุต มงคลวุฒคณาทร บวรศีลาจาร ศาสนภารธุราทร ธรรมยุติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
ประวัติโดยย่อ พระสุธรรมาธิบดี
เดิม พระธรรมวราจารย์ หรือหลวงปู่แบน กิตฺติสาโร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 161718 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร รักษาการเจ้าอาวาสวัดสิรินธรเทพรัตนาราม ในพระราชูปถัมภ์ และยังทำงานพัฒนาและสงเคราะห์ประชาชนตลอดเวลา
นามเดิม แบน นามสกุล อุปกลิ่น เกิดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2471 บิดาชื่อ นายปั้น มารดาชื่อ นางมะลิ เกิด ณ บ้านเกาะจาก ตำบลเกาะทวด อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
อายุ 20 ปี ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเกาะจาก โดยมีพระรัตนธัชมุนี (แบน คณฐาภรณเถระ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสุธรรมาธิบดี(เพิ่ม อาภาโค) เจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูถาวรศิลวัฒน์(เจริญ ถาวโร) เป็นพระศีลาจารย์ อุปสมบทเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2491 ณ วันนั้นผู้เข้ามาอุปสมบทพร้อมกันจำนวน 31 รูป ได้รับอุปสมบทชุดที่ 14ได้ศีกษาพระปริยัติธรรม ปลายปี 2491 เข้าสอบนักธรรมชั้นตรีได้ในสนามหลวง ในสนามสอบรวม ต้องแจวเรือไปปากพนังเป็นเวลา 6 ชั่วโมง พัก ณ วัดรามประดิษฐ์ 4 คืน เมื่อสอบ 4 วัน เสร็จแล้ว เดินทางกลับโดยเปลี่ยนกันแจวเรือ
ต่อมา ท่านมีความคิดว่าจะไปศึกษาต่อกรุงเทพฯ ตั้งใจเลือกอยู่วัดบวรนิเวศวิหารเป็นสำนักที่อยู่ที่เรียน แม้ว่าอาจารย์จะบอกว่าเข้ายากระเบียบมาก แต่ท่านไม่ท้อ ท่านเตรียมพร้อมเพื่อรับกฎและระเบียบของวัด เช่น ท่องจำปาติโมกข์ได้หมดภายใน 1 เดือน จึงเดินทางมาเมื่อ ปี 2492 ท่านเล่าว่า การเดินทางสมัยนั้นลำบากแค่ไหน จากนครศรีธรรมราช กว่าจะถึงกรุงเทพฯ ต้องเดินทางโดยทางเรือ ใช้เวลาเดินทาง 7 วัน 7 คืน ถึงกรุงเทพฯวันที่ 20 พฤษภาคม 2492 โดยนั่งรถสามล้อจากท่าเรือถึงวัดบวรนิเวศวิหาร จึงเข้าไปกราบพระมหาจับ อุคฺคเสโน(พระธรรมรัชมงคล) พักกับท่านได้ 7 วัน ถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2492 เป็นวันที่รัฐบาลได้อันเชิญ พระบรมอัฐิรัชกาลที่ 7 ประดิษฐาน ณ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ท้องพระโรง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และท่านได้นิมนต์ไปด้วยในฐานะอาคันตุกะ เนื่องจากพระสงฆ์ไม่พอ เห็นพระบรมมหาราชวังครั้งแรก รู้สึกงงงวย ทึ่งในความงาม และได้เข้าครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2511 ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 36 พรรษา ขณะนั้นเป็นพระ “โศภนคณาภรณ์” แล้ว
แต่ท่านไม่ได้อยู่วัดบวรฯเพราะทางวัดยังไม่รับพระเข้ามาอยู่ใหม่ พระมหาจับ(พระธรรมรัชมงคล)จึงพาไปฝากวัดเขมาภิรตารารม นนทบุรี ขณะที่อยู่วัดเขมาภิรตาราม ก็ยังตั้งใจทบทวนพระปาติโมกข์และท่องสวดมนต์เพื่อเตรียมตัวเข้าศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร วันที่ 22 มกราคม 2493 ก็เดินทางจากวัดเขมาภิรตาราม มาวัดบวรนิเวศวิหาร ทางวัดให้พระมหามณีเป็นผู้ซ้อมสวดพระปาตอโมกข์และสวดมนต์ กำชับว่า ต้องให้จบภายใน 1 เดือน แต่ท่านสามารถสวดซ้อมภายใน 20 วัน ก็จบตามหลักสูตร ตั่งแต่นั้นจึงนำขึ้นถวายตัวแด่ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และไปกราบกรรมการวัดทุกรูป ภายใน 15 วัน สามารถจะรู้จักกับพระภิกษุสามเณรวัดบวรนิเวศวิหารหมดทุกรูป
เมื่อเข้ามาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารได้สมปรารถนาก็เรียนตามที่ตั้งใจ ได้สมัครเข้าเรียนภาษาบาลี และนักธรรมจนสอบนักธรรมชั้นเอกได้ แต่กว่าจะสอบได้เป็นมหา “แบน” ใช้เวลาเกือบ 10 ปี ท่านสอบได้ในปี 2498 จากนั้นก็เรียนที่สภาการศึกษา 10 ปี จบปริญญาตรี เมื่อจบแล้วได้ทำงานเป็นเสมียน ได้รับนิตยภัต(เงินเดือน) เดือนละ 130 บาท และทำงานในมหาวิทยาลัยสงฆ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2509 มาจนถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2541 ก็ออก(นิตยภัต 1หมื่นกว่าบาท) เมื่อมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารได้เป็นผู้ใกล้ชิดกับทั้งได้เป็นผู้คำนวณการย้ายราศีของดวงดาวให้แก่พระพรหมมุนี(ผิน) ผู้เป็นโหราศาสตร์และเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และทั้งยังมีความรู้เรื่องไฟฟ้าจาก 110 วัตต์ เป็น 220 วัตต์ จึงได้รับมอบหมายจากกรรมการวัดบวรนิเวศวิหารให้เป็นผู้ควบคุมการเปลี่ยนไฟฟ้าทั้งวัด กับทั้งมีความสามารถพิเศษคือการเขียนหนังสือสวย อะไรที่ต้องการเขียนด้วยลายมือต้องหลวงปู่เขียน เพราะลายมือเทียบได้กับอาลักษณ์สมณศักดิ์เป็นที่พระธรรมวราจารย์ ได้รับการไว้วางใจให้เขียนพระนามพระราชวงศ์ชั้นสูงจารึกในพระสุพรรณบัฏมาแล้ว
หลวงปู่มีผลงานด้านสังคมสงเคราะห์ ส่งเสริมการศึกษา และสาธารนูปการมีมากจนเหลือที่จะบรรยาย แม้กระทั่งการแปรญัติร่างพระราชบัญญัติยกฐานะมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง ทั้ง มมร และ มจร ท่านมีบทบาทมิใช่น้อยเลย ท่านทำงานในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2509 – 2541 อายุ 72 ปี จึงเกษียณ